12 สะพาน คลองคูเมืองเดิม

ทริปปั่นจักรยานนี้มีคอปเซปว่าจะปั่นจักรยานเลียบตามคลองคูเมือง ตั้งแต่ทิศเหนือไปจนถึงทิศใต้ ดูสะพานต่างๆ และถ่ายรูปที่ระลึก ศึกษาศิลปะและประวัติจากป้ายแนะนำสถานที่

คลองคูเมืองเดิมเป็นคลองที่ขุดมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี ใน พ.ศ.2314 เพื่อให้เป็นคูเมืองและเป็นแนวเขตของเมืองหลวงในสมัยนั้น ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ในส่วนของฝั่งธนบุรีและพื้นที่ของเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน คลองคูเมืองเดิมของทางฝั่งธนบุรีมีชื่อเรียกแยกออกเป็น คลองวัดท้ายตลาด คลองบ้านหม้อ และ คลองบ้านขมิ้น. ส่วนคลองคูเมืองเดิมของทางฝั่งพระนครมีชื่อเรียกคือ คลองโรงไหมวังหน้า คลองหลอด และคลองตลาด. ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2525 มีมติของคณะรัฐมนตรีให้ใช้ชื่อเรียกคลองให้ถูกต้อง เพื่อเป็นอนุสรณ์ทางประวัติศาสตร์ว่า คลองคูเมืองเดิม.

ป้ายแนะนำสถานที่ คลองคูเมืองเดิม อยู่ที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า

ดูจากแผนที่จะทราบว่าคลองคูเมืองเดิมเป็นคลองขุดเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มทางทิศเหนือที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้าและไปจบที่ปากคลองตลาดทางทิศใต้.

ที่สะพานพระปิ่นเกล้าที่เป็นจุดเริ่มต้นของถนนพระอาทิตย์มีป้ายแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวคลองคูเมืองเดิมอยู่ที่ใต้สะพาน. บริเวณนี้จะไม่เห็นเป็นคลองเท่าไรนัก เพราะเป็นคลองอยู่ใต้ถนนจากจุดนี้ไปตามเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ไปโผล่ให้เห็นเป็นคลองที่สะพานผ่านพิภพลีลา.

บริเวณปากคลองทิศเหนือ มีสถานีสูบน้ำปิ่นเกล้า มีประตูระบายน้ำระหว่างคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา. เดินออกมาทางเดินริมแม่น้ำที่เชื่อมไปสวนสันติชัยปราการ(ป้อมพระสุเมรุ)ได้.

ก่อนจะมีการสร้างสะพานพระปิ่นเกล้า ที่นี่มีสะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ ซึ่งเป็นสะพานคู่กับสะพานเจริญรัช ๓๑ ที่ปากคลองฝั่งทิศใต้.

เราจะเริ่มสำรวจสะพานต่างๆที่ข้ามคลองคูเมืองเดิม ขี่จักรยานเลียบคลองไปถึงปากคลองตลาด ตามลำดับสะพาน

สะพานผ่านพิภพลีลา

สร้างในปี พ.ศ.2449 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อให้รับกับสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งอยู่ทางด้านปลายถนนราชดำเนินกลาง ลักษณะของสะพานมีความเอียงน้อยมาก เกือบเสมอกับระดับถนน ราวลูกกรงของสะพานเดิมเป็นเหล็กดัดที่มีลวดลายสวยงาม ต่อมามีการรื้อเพื่อปรับปรุงสะพานหลายครั้ง จนกระทั่วเหล็กดัดดังกล่าวไม่มีปรากฏให้เห็นอีกแล้ว

ปัจจุบันเป็นสะพานปูนสีขาว มีเสาไฟแบบโบราณประดับทั้งสองฝั่ง. เป็นจุดเริ่มของคลองที่โผล่มากจากใต้ถนน ไปจรดที่ปากคลองตลาด. ใกล้บริเวณสะพานจะมีคลองเล็กๆแยกออกไปคือคลองหลอดซึ่งจะไปประจบกับคลองรอบกรุงที่ป้อมพระกาฬ.

สะพานเจริญศรี ๓๔

เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมตรงบริเวณหน้าวัดบุรณศิริมาตยาราม. รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์เท่าพระชนมวาร สร้างเป็นที่ระลึกและสาธารณะประโยชน์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาในปี พ.ศ.2456 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2457 พระราชทานนามว่า สะพานเจริญศรี ๓๔ ตัวเลขข้างท้ายแสดงถึง พระชนมายุ ๓๔ พรรษาในปีที่สร้างสะพาน ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานทุกๆ ปี แห่งวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ ลักษณะสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เชิงสะพานสองข้างมีเสารวม 4 เสา ประดิษฐ์เป็นรูปพาน มีเฟื่องอุบะแบบตะวันตก ที่แท่นฐานเสามีเลข 4 หมายถึงปีที่ 4 แห่งการครองราชย์ และเป็นสะพานลำดับที่ 4 ที่สร้างขึ้นในรัชกาลของพระองค์ ที่พนักกลางสะพานมีแผ่นจารึกพระนามและปีพุทธศักราชที่สร้าง และเหนือขึ้นไปเป็นแผ่นจารึกพระปรมาภิไธยย่อ วปร. ปัจจุบันพระปรมาภิไธยย่อนี้หายไปเหลือแต่กรอบ สะพานนี้เป็นหนึ่งในสะพานชุด เจริญ ทั้ง 6 สะพานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6

สะพานเจริญศรี ๓๔

สะพานนี้ปิดไม่สามารถข้ามได้ อีกฝั่งคือด้านหลังศาลฎีกา. กลางสะพานด้านนอกมีรูปปั้นหัวเสือป่า.

สะพานช้างโรงสี

เป็นสะพานข้างคลองหลังกระทรงกลาโหม จุดเด่นสะพานคือมีรูปปั้นหัวสุนัขอยู่เชิงสะพาน. ชื่อช้างโรงสี มาจากสะพานนี้สมัยก่อนสำหรับช้างศึกข้ามผ่านจึงต้องมีความแข็งแรง และอยู่ใกล้โรงสีข้าวฉางหลวงจึงชื่อสะพานช้างโรงสี

รูปปูนปั้นหัวสุนัขหมายถึงปีนักษัตรประสูตของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงบูรณะสะพานเมื่อปีพ.ศ.2453 จึงมีเขียนปี ศก.๑๒๙ รัตนโกสินทรศกไว้.

สะพานปีกุน

สร้างในปี พ.ศ.2458 ซึ่งตรงกับปีกุน โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทรา พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5  ทรงอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสเจริญพระชรมพรรษาครบ 4 รอบ เดิมสะพานนี้ไม่มีชื่อ แต่ต่อมาเรียกกันว่า สะพานหมู หรือ สะพานปีกุน เพราะว่าอยู่ใกล้อนุสาวรีย์หมู ซึ่งอยู่ตรงเชิงสะพาน สะพานนี้เป็นสะพานสำหรับคนเดินข้าม ทางเดินสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก มีเสาปูน 4 เสา เป็นสัญลักษณ์แห่งพระชันษา หมายถึง เทียนประทีปพระชันษา  วงรูปไข่ 4 วงในแต่ละเสา หมายถึง พระชนมายุ 4 รอบ

สองฝั่งของสะพานนี้มีสถานที่สำคัญคือวัดราชบพิธและวัดราชประดิษฐ์.

สะพานหก

เดิมเป็นสะพานไม้ จะถูกยกหกขึ้นหกลง เพื่อให้เรือในคลองผ่านไปมาได้สะดวก เรียกว่า สะพานหกแบบวิลันดา ซึ่งเป็นแบบของสะพานที่มีในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในกันในสมัยปลายรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5 ในสมัยนั้นได้มีการสร้าง สะพานหก ไว้จำนวน 6 สะพาน มีอยู่ทั่งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี  แต่ต่อมาได้ชำรุดหักพังไปหมดตามกาลเวลา เพราะว่าตัวสะพานทำด้วยไม้ สะพานหกที่เป็นสะพานให้คนข้ามในปัจจุบัน เป็นสะพานที่มีการรื้อฟื้นสร้างขึ้นใหม่ โดยอาศัยหลักฐานจากภาพถ่ายเก่าๆ

สะพานหกอยู่ใกล้ๆกับสะพานปีกุน ทางเดินเป็นไม้บางส่วนผุกร่อนไปบ้าง มีลักษณะเฉพาะแปลกจากสะพานข้ามคลองคูเมืองอื่นๆ

ฝั่งหนึ่งของสะพานหกคือสวนสราญรมย์ และอีกฝั่งคือคลองหลอดราชบพิธ

สะพานมอญ

ปัจจุบันเป็นราวเหล็กสำหรับรถข้าม ไม่มีชื่อที่สะพานแต่มีป้ายเขียนไว้ว่าแยกสะพานมอญ ใน wikipedia เขียนไว้ว่าเดิมบริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวมอญที่อพยพหนีสงครามจากกรุงศรีอยุธยามาพร้อมๆกับชาวไทย ต่อมามีการสร้างสร้างพานไม้โดยแรงงานชาวมอญจึงเรียกว่าสะพานมอญ

สะพานมอญ

สะพานอุบลรัตน์

ป้ายแนะนำสถานที่พังยับเยิน จึงหาข้อมูลจาก Wikipedia ได้ความว่า เดิมเรียกว่าสะพานหัวตะเข้ หรือ สะพานหัวจรเข้ เพราะที่ราวสะพานปั้นเป็นรูปจรเข้ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกแด่พระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าอุบลรัตนนารีนาค กรมขุนอรรควรราชกัลยา พระอรรคชายาเธอในรัชกาลที่ 5 ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงในปี ร.ศ. 132

สะพานอุบลรัตน์

สะพานเจริญรัช ๓๑

เป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมด้านใต้ ส่วนที่เรียกว่า ปากคลองตลาด เป็นสะพานคู่กับ สะพานเฉลิมสวรรค์ ๕๘ ที่ปากคลองด้านเหนือ รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์เท่ากับพระชนมวาร ให้สร้างเป็นสาธารณประโยชน์ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปี พ.ศ.2453 อันเป็นปีแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์ เปิดใช้งานได้เมื่อปี พ.ศ.2454 และพระราชทานนามว่า สะพานเจริญรัช ๓๑ เป็นสะพานแรกในสะพานชุดที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า เจริญ

ตัวสะพานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก พนักราวสะพานทั้งสองข้างโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ลูกกรงทั้งสองข้างประดิษฐ์เป็นรูปเสือยืนหันข้างเข้าหากันที่กึ่งกลางสะพาน อันหมายถึงกิจการเสือป่าที่ทรงสถาปนาขึ้นในปีเดียวกัน กึงกลางสะพานเป็นรูปคล้ายโล่จารึกนามสะพานแวดล้อมด้วยลายใบไม้แบบยุโรป เหนือราวสะพานมีพระปรมาภิไธยย่อ วปร. ประดิษฐานอยู่ตรงกลางรัศมี ปลายราวสะพานทั้งสองข้างมีแป้นกลมจารึกเลข ๓๑ ซึ่งหมายถึงพระชนมายุ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติไว้แล้ว

สะพานคนข้าม ไม่มีชื่อ

นอกจากสะพานหลักที่มีชื่อ มีสะพานข้ามคลองคูเมืองเป็นสะพานคนข้ามเล็กๆ 4 สะพาน

สะพานไม่มีชื่อ ใกล้สะพานผ่านพิภพลีลา เชื่อคลองหลอดและอนุสาวรีย์พระแม่ธรณี
สะพานคนข้ามหลังกระทรวงกลาโหม
สะพานคนข้าม ตลาดส่งเสริมเกษตรไทย
สะพานคนข้าม ปากทางประตูระบายน้ำปากคลองตลาด

ปากคลองตลาด

ส่วนสุดท้ายของคลองคูเมืองจะออกแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด จะมีประตูระบายน้ำอยู่ถัดจากสะพานเฉลิมรัช ๓๑ .